วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บทวิจารณ์วรรณกรรมเพลงสะท้อนสังคม

ปริญญาลูกแม่ค้า : วรรณกรรมเพลงสุดซึ้งสะท้อนภาพสังคม
                                 บทวิจารณ์โดย : นางสาวยุภาพร  วาทสิทธิ์



เพลง...ปริญญาลูกแม่ค้า

ศิลปิน :  ศิริพร   อำไพพงษ์
คำร้อง/ทำนอง :  สนชัย   สมบูรณ์
เรียบเรียง :  ธีระพงษ์   ศักดิ์แก้ว

เนื้อเพลง :
แม่ยอมลำบาก  เพราะอยากให้ลูกสบาย
เหนื่อยกายเหนื่อยใจ ไม่ยอมพ่ายต่อโชคชะตา
นอนดึกตื่นเช้า กลางวันเอาใจลูกค้า
เรียนน้อยแรงด้อยราคา อาชีพแม่ค้าก็ต้องจำทน
สู้ไปไม่บ่น อดทนเพื่อลูกเรื่อยมา
แม่อยากเห็นใบปริญญา ที่แลกมาจากเหงื่อคนจน
เห็นลูกสู้แท้ ใจแม่ก็สุขเหลือล้น
ไม่ยอมให้ลูกอายคน สู้ทนหาเงินส่งเรียน
*สิ้นเดือนเหมือนดั่งกับแม่สิ้นใจ บางคราวไม่พอใช้จ่าย
ยืมเงินรายวันหมุนเวียน
แลกด้วยน้ำตา จึงได้เงินมาเป็นค่าเรียน
หวังว่าลูกคงพากเพียร สมกับที่แม่ตั้งตา..
**แม่คอยสานต่อ นับตั้งแต่พ่อเจ้าจากไป
ลูกอย่าน้อยใจ มุ่งมั่นไป อย่าแคร์ปัญหา
อาจมีบางครั้ง เหนื่อยใจกับความเหว่หว้า
แม่คอยหอมใบปริญญา ให้ลูกแม่ค้าคนนี้ทำได้..
..ซ้ำ*,**..
แม่หวังพึ่งใบปริญญา ให้ลูกคว้ามา ซับน้ำตาใจ..






ปริญญาลูกแม่ค้า : วรรณกรรมเพลงสุดซึ้งสะท้อนภาพสังคม

เพลงปริญญาลูกแม่ค้า ขับร้องโดย นักร้องเสียงอ้อนศิริพร  อำไพพงษ์  ถือได้ว่าเป็นเพลงที่ให้กำลังใจ เนื้อหาของเพลงผู้แต่งมุ่งให้กำลังใจ สำหรับคนที่ประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้า  รวมไปถึงผู้ที่เป็นลูกของพ่อค้าแม่ค้าที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี เพื่อไม่ให้ย่อท้อต่อความยากลำบาก ไม่ให้น้อยใจและดูถูกอาชีพแม่ค้า ให้มีความตั้งใจและภูมิใจกับความสำเร็จที่ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงกายของอาชีพแม่ค้าจนๆ ส่วนตัวดิฉันเองเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบบทเพลงนี้มาก เพราะเป็นคนหนึ่งที่เป็นลูกแม่ค้า  เวลาที่รู้สึกเหนื่อยและท้อกับเรื่องเรียนเรื่องงาน จะชอบเปิดเพลงนี้ฟังเสมอๆ เวลาได้ฟังเพลงนี้ครั้งใด จะทำให้รู้สึกว่าตนเองมีกำลังใจมีพลังที่จะสู้กับปัญหาต่างๆได้ทุกครั้งไป
นอกจากเพลงนี้จะเป็นเพลงที่ให้กำลังใจแล้ว ยังสะท้อนสภาพสังคมและค่านิยมในด้านต่างๆได้เป็นอย่างดี   ไม่ว่าจะเป็นภาพสะท้อนสังคมด้านการประกอบอาชีพ  ค่านิยมด้านการศึกษา  ภาพสะท้อนสังคมด้านเศรษฐกิจ  ภาพสะท้อนสังคมด้านครอบครัว เป็นต้น
จากบทเพลงจะเห็นว่ามี ภาพสะท้อนด้านการประกอบอาชีพ  ซึ่งในเพลงนี้ได้กล่าวถึงอาชีพแม่ค้า
แม่ค้า เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ลำบาก เหนื่อยกายเหนื่อยใจ และจะต้องมีความขยันมีความอดทน ต้องนอนดึกตื่นเช้า เพราะจะต้องเตรียมข้าวของสินค้าที่จะนำไปขาย ทั้งต้องบริการเอาใจลูกค้าเพื่อที่จะได้ขายของได้ ทุกๆวันชีวิตจะต้องวนเวียนอยู่แบบนี้ ถึงจะเหนื่อยยากลำบากอย่างไรแม่ค้าก็ต้องทน  ดังจะเห็นในเนื้อเพลงท่อนที่ว่า......
“ แม่ยอมลำบาก   เพราะอยากให้ลูกสบาย     เหนื่อยกายเหนื่อยใจ   ไม่ยอมพ่ายต่อโชคชะตา 
นอนดึกตื่นเช้า    กลางวันเอาใจลูกค้า    เรียนน้อยแรงด้อยราคา    อาชีพแม่ค้าก็ต้องจำทน
ในส่วนของ ค่านิยมด้านการศึกษา จะเห็นว่าปัจจุบันการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากสำหรับคนทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนยากจน ก็ยังมีค่านิยมและให้ความสำคัญด้านการศึกษาเพราะเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยให้มีอนาคตที่ดี คนจนเองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา หรือแม่ค้าเองก็ตามยังมีความต้องการอยากให้ลูกของตนได้มีการศึกษาในระดับที่สูง และอยากเห็นลูกประสบความสำเร็จในการเล่าเรียนอยากเห็นลูกได้รับปริญญา เพราะสำหรับคนยากจนแล้ว นั่นถือเป็นความสำเร็จอีกอย่างที่จะทำให้ผู้ที่เป็นพ่อแม่ภูมิใจมากที่สุด ถึงแม้จะต้องยอมลำบาก ทำงานหนัก นอนดึกตื่นเช้า ดังอาชีพแม่ค้า ก็ต้องยอมทำเพื่อที่จะให้ได้เงินมาใช้เป็นทุนส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือ ดังเนื้อเพลงท่อนที่ว่า....
สู้ไปไม่บ่น   อดทนเพื่อลูกเรื่อยมา   แม่อยากเห็นใบปริญญา    ที่แลกมาจากเหงื่อคนจน
เห็นลูกสู้แท้    ใจแม่ก็สุขเหลือล้น   ไม่ยอมให้ลูกอายคน    สู้ทนหาเงินส่งเรียน
                ส่วน ภาพสะท้อนด้านเศรษฐกิจ จากเนื้อเพลงจะเห็นว่า อาชีพแม่ค้าไม่ได้เป็นอาชีพที่ร่ำรวย จะเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวนี้ไม่ค่อยจะดีนัก ด้วยอาชีพแม่ค้าเป็นอาชีพที่หาเช้ากินค่ำ นอกจากที่ต้องใช้เป็นค่าเล่าเรียนของลูก ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆในครอบครัว ซึ่งบางเดือนรายได้จากการขายของก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จนในบางครั้งต้องอาศัยการไปขอกู้ยืมเงินรายวันจากนายทุน แน่นอนค่ะว่า คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายอาจจะทราบและเคยเห็นกันมาบ้างว่า ทำไมแม่ค้าถึงได้เป็นหนี้รายวันกันเยอะ  
คงจะหนีไม่พ้นเหตุผลเดียวกันเหมือนในเนื้อเพลงท่อนที่ว่า....   สิ้นเดือนเหมือนดั่งกับแม่สิ้นใจ   บางคราวไม่พอใช้จ่าย   ยืมเงินรายวันหมุนเวียน   แลกด้วยน้ำตา    จึงได้เงินมาเป็นค่าเรียน
                และด้านสุดท้ายที่พบภาพสะท้อนสังคม ได้จากบทเพลงนี้คือ ภาพสะท้อนครอบครัว   
ครอบครัวที่สมบูรณ์มีส่วนสำคัญในการผลักดันเป็นกำลังใจและสนับสนุนส่งเสียให้ลูกได้ศึกษาในระดับสูง หากครอบครัวมีปัญหาและขาดความอบอุ่น ก็อาจเป็นอุปสรรคในการเรียนของลูกได้  แต่ถ้าหากเราลองมองอีกมุมหนึ่งสำหรับคนที่มีความตั้งใจจริง ย่อมจะไม่แคร์อุปสรรคเพียงแค่นี้ หากแต่อุปสรรคความน้อยใจนั้นกับจะกลายเป็นแรงพลักดันให้มีใจฮึดสู้ มีใจมุ่งมั่น เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ ดังเนื้อเพลงท่อนที่ว่า...
แม่คอยสานต่อ   นับตั้งแต่พ่อเจ้าจากไป   ลูกอย่าน้อยใจ    มุ่งมั่นไป   อย่าแคร์ปัญหา
อาจมีบางครั้ง   เหนื่อยใจกับความเหว่หว้า   แม่คอยหอมใบปริญญา   ให้ลูกแม่ค้าคนนี้ทำได้
ก้าวไปคว้าเอาใบปริญญามากอดไว้และมอบเป็นของขวัญแด่แม่ด้วยความภาคภูมิใจ แล้วเรียกปริญญาแห่งความสำเร็จใบนี้ว่า... ปริญญาลูกแม่ค้า ดังชื่อบทเพลงได้อย่างเต็มปาก


กลอนอาหาร มาตรา แม่ ก.กา และ มาตราแม่กบ

กลอนอาหาร แม่ ก.กาและแม่กบ
                                            กาพย์ยานี ๑๑
                                                    แม่ ก.กาและแม่กบ


               เมนูแม่ก.กา                  เรานำมาคู่กับกบ      
โภชนาว่ามีครบ                                   ปูปลากบควบคู่มา
ขึ้นใหม่เมนูลาบ                                   มีไก่ลาบและลาบปลา
ลาบปูใส่ชีนา                                       แลปลาร้าว่าแซบดี
ลาบหมูและลาบเทา                            กับสะเดาแลหัวปลี
ลาบแย้ก็ว่าดี                                        ลาบเนื้อมีอยู่นานา
ว่าไปเมนูซุป                                        จ้ำมุบมุบกับจี่ปลา
ซุปหน่อไม้ใส่งา                                  และซุปปลาใส่มะเขือ
ต่อมาก็ปลาเผา                                     แล้วก็เอามาทาเกลือ
หม่ำปลาและหม่ำเนื้อ                          ไม่น่าเบื่อแม่กบกา


เนื้อหาประกอบรายวิชา หนังสือเรียนภาษาไทย

รายชื่อผู้แต่ง
นางสาวปิยะพร ปะเสนาเว 
นางสาวภัทรณรินทร์ กองงาม 
นางสาวยุภาพร วาทสิทธิ์ 
นางสาวสุพรรษา โคตรชมพู 
นางสาวจันทร์จิรา ยศทะแสน 


วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ตีความเรื่องสั้น

ที่นี่มหาวิทยาลัย

          ที่นี่มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องสั้นในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “ซอยเดียวกัน” รวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์
ปี พ.ศ. 2527 ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ มีจำนวน 232 หน้า และตีพิมพ์ครั้งแรกในผู้หญิง
          ที่นี่มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคนซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่มีความคิดเห็นต่อวงการข้าราชการในระบบมหาวิทยาลัยว่า ที่นี่คือมหาวิทยาลัย เป็นแหล่งวิชาการ เป็นแหล่งผลิตบัณฑิต ปัญญาชนมันสมองของประเทศชาติ แต่เขากับรู้สึกสงสารนักศึกษาทุกคนที่นี่ ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เขาเป็นห่วงนักศึกษาทุกคน เขารู้สึกจะอดทนกับการรับเงินเดือนของรัฐบาลจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้อีกไม่นาน เพราะเขารู้สึกเหนื่อยหน่ายกับสภาพแวดล้อม สภาพความโง่เขลา เห็นแก่ตัว สภาพของความเกียจคร้านสันหลังยาวของคนรอบข้าง ความซื่อเซ่อของผู้บังคับบัญชาสารพัดสารพัน เขาเคยคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องมีคุณธรรมอันสูง เหมือนๆกับที่เขาเคยเชื่อว่าครูนั้นจะต้องมีคุณธรรมในใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วภาพของอาจารย์ที่เขากำลังเลือกตารางสอน ช่างไม่ต่างกับสมัยที่เขาเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถม ในวันเปิดเทอมที่เขาและเพื่อนๆต่างแย่งโต๊ะเก้าอี้กันเป็นที่โกลาหล ทุกคนพยายามเลือกเอาโต๊ะเก้าอี้ตัวที่สะอาดที่สุด พังน้อยที่สุด จนเขาเกือบจะลืม ถ้าไม่บังเอิญเห็นเหตุการณ์อย่างนั้นจะมาเกิดขึ้นต่อหน้าให้เขาเห็นอีก
          จะให้เขาบอกกับใครๆหรือว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งจบปริญญาโท ปริญญาเอก ทำในสิ่งที่เหมือนกับเด็กประถมทำ อาจารย์ทุกคนที่นี่ต้องการพื้นที่ ต้องการห้องส่วนตัว ต้องการสัดส่วนของตัวเอง     บางคนต้องการความโอ่อ่า ต้องการนั่งตรงที่ต้องการจะนั่ง ทุกคนต่างยืดถือความสะดวกสบายและสนองความต้องการเหลวไหลของตัวเอง
          เขาอยากจะออกไปจากมหาวิทยาลัยสถานที่อันโง่งมนี่เสีย เขารู้สึกผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ที่เขารู้สึกว่าเขาตัดสินใจผิดพลาด ที่คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้เข้ามาอยู่ในแวดวงของนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย จะได้ถือโอกาสพัฒนาความคิดตัวเอง เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างที่อยากได้ใคร่รู้แต่ไม่มีโอกาส ใครๆก็อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่จะมีกี่คนที่ต้องการเป็นอาจารย์เพราะต้องการสอนหนังสือ ต้องการให้ความรู้เด็กด้วยความจริงใจ แต่ส่วนส่วนใหญ่แล้วครึ่งหนึ่ง สำหรับคนที่ต้องการเป็นอาจารย์ เพียงเพราะเป็นง่านสบาย โคตรสบายจริงๆ ในขณะที่คนทั่วไปทำงานวันละแปดชั่วโมง และคนอีกหลายล้านคนที่ทำงานวันละมากกว่าสิบชั่วโมง แต่อาจารย์ที่นี่บางคนทำงานเฉลี่ยแค่วันละไม่ถึงชั่วโมงด้วยซ้ำ แค่สอนหนังสือสัปดาห์ละห้าชั่วโมงสิบชั่วโมงยังส่ออาการเบื่อหน่าย ทำหน้าที่ตนเองไม่เต็มที่ เขาไม่เข้าใจว่าจะมาเป็นอาจารย์ให้เปลืองภาษีชาวบ้านทำไม  นี่หรือคือสถานที่ผลิตปัญญาชน เขาไม่เข้าใจ ถ้าจะผลิตบัณฑิตออกมาเพื่อให้เป็นบัณฑิตใบ้ บัณฑิตกุมเป้ากางเกง บัณฑิตไม่มีกระดูกสันหลัง เขาจะเรียกที่นี่ว่ามหาวิทยาลัยอยู่ทำไม
          เขารู้สึกหดหู่ และรับไม่ได้กับระบบและอาจารย์มหาวิทยาลัย ประเทศไม่ได้สอนให้คนคิด มหาวิทยาลัยเป็นที่สอนนักคิด เป็นที่สร้างนักคิด แต่คนที่สร้างนักคิดไม่เคยมีความคิดหรือมีความคิดก็ไม่มีสิทธิ์จะคิด เพราะเพียงแค่คิดคนนั้นก็กลายเป็นแกะดำ เป็นไอ้บ้าอีบอ ที่มีคนพร้อมจะกล่าวประณามให้
          เขาจึงใช้เวลานั่งคิดถึงที่บ้าน ที่ซึ่งเป็นทุ่งนาป่าสะแก ที่น่าจะเป็นที่มีคุณค่าต่อชีวิตมากกว่าการมา หมักหมมอยู่กับคนมีปัญญาแต่ไมมีความคิดเหล่านี้  หรือเขาต้องยอมรับว่า ปัญญานั้นให้กันได้ แต่ความคิดนั้นต้องหาเอาเอง
          เขามองว่าสังคมที่ดีกว่าควรจะเริ่มต้นที่อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ใช่เริ่มที่นักศึกษา ปล่อยให้นักศึกษาต่อสู้กันไปตามบุญตามกรรม โดยที่อาจารย์เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์  เขาไม่เห็นด้วยเลยว่า ที่อย่างนี้จะสร้างความเป็นคนที่เป็นคนให้กับเขาได้ เขาเสียแรงหวังและตั้งใจ สุดท้ายเขาคิดว่าเขาควรกลับไปทำนา ทำไมเขาจะต้องมาทนอึดอัด ทนอับทึบอยู่กับเมืองที่สกปรกและผู้คนโสโครกรอบๆตัวของเขา เขาคิดว่าเขาโชคดีที่ยังมีนาให้กลับไปทำ มีที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์จะหายใจ มีคนพูดภาษาเดียวกับเขารออยู่เหมือนกัน
          จากเรื่องราวทั้งหมดของเรื่องข้างต้น จะเห็นว่าผู้เขียนต้องการแสดงทัศนคติต่อแวดวงระบบอาจารย์ในมหาวิทยาลัย คุณธรรมจริยธรรมของความเป็นครู และที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผู้มีปัญญาชน ผลิตบัณฑิต   ผู้เขียนมีน้ำเสียงตำหนิ  ไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย กับการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่ให้ได้แค่ปัญญา แต่กับสอนให้ให้นักศึกษาคิดไม่ได้ โดยใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย กระชับชัดเจน ใช้คำหนักแน่น แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกและทัศนะของตนเองอย่างชัดเจน
          จากเรื่อง ที่นี่มหาวิทยาลัย ผู้แต่งต้องการเสนอให้เห็นว่า ที่ที่ให้ความรู้ ที่ผลิตบัณฑิต แหล่งวิชาการที่สร้างผู้เป็นปัญญาชน ไม่ใช่แค่ มหาวิทยาลัย ผู้ให้ความรู้ไม่ใช่แค่ผู้เป็นอาจารย์ สังคมที่ดีใช่ได้เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัย แต่ควรเริ่มต้นที่อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีจรรยาบรรณของความเป็นครู สามารถสร้างคนให้เป็นคนได้ ไม่ใช่ให้ได้แค่ปัญญาความรู้ แต่ทำให้นักศึกษาคิดไม่ได้
          จากเรื่องสามารถสรุปตีความได้ว่า มหาวิทยาลัยเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างพื้นฐานความรู้ปัญญา
แต่ทุกคนสามารถสร้างตนเองให้เป็นคนเป็นผู้มีปัญญาเป็นบัณฑิตได้ด้วยการมีคุณธรรมในใจ ทำสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของความเป็นมนุษย์ได้ สร้างสรรค์สังคมที่ดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดที่เพียงเป็นผู้จบจากมหาวิทยาลัยเท่านั้น 


อ้างอิง : วาณิช จรุงกิจอนันต์. ซอยเดียวกัน. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2556. (หน้า 43)




วิจารณ์วรรณกรรมแนวสังคมและอัตลักษณ์ถิ่น


“ ลูกอีสาน ” วรรณกรรมซีไรต์สะท้อนสภาพสังคมวิถีชีวิตของชาวอีสานขนานแท้
บทวิจารณ์โดย นางสาวยุภาพร  วาทสิทธิ์

ลูกอีสาน เป็นหนังสือนวนิยายที่ได้รับรางวัลดีเด่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙  ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี  พ.ศ. ๒๕๒๒ รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็น ๑ ในหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ อีกด้วย  
                นวนิยายเรื่อง  “ลูกอีสาน”  แต่งโดย คำพูน บุญทวี เป็นหนังสือประเภทนิยาย  ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่สำนักพิมพ์บรรณกิจ ความหนา ๒๙๐ หน้า  เนื้อเรื่องผู้เขียนได้เขียนสะท้อนถึงสภาพความเป็นอยู่วิถีชีวิตของชาวอีสานและบรรยายภาพให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมแบบชนบทอีสานได้อย่างสมจริงจนเกิดเป็นมโนภาพ  โดยการนำเอาประสบการณ์และเกร็ดชีวิต เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนของผู้เขียนซึ่งเป็นชาวอีสานโดยกำเนิดได้นำออกมาเขียน เล่าชีวิตช่วงเด็กในแผ่นดินที่ราบสูงสะท้อนออกมาเป็นเรื่องราว ชีวิตชนบทแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่สภาวะธรรมชาติ  ความสุข ความทุกข์ และการต่อสู้อย่างทรหด อดทนกับความแปรปรวนของธรรมชาติ ซึ่งนับได้ว่า นวนิยายเรื่อง ลูกอีสาน เป็นงานเขียนและเป็นเรื่องที่มีคุณค่า มีรสชาติทั้งยังมีประโยชน์ต่อการศึกษาสภาพสังคมความเป็นลักษณ์ท้องถิ่นอีสานได้อย่างมาก

จากประสบการณ์ชีวิตของ “คำพูน  บุญทวี”   สู่การเป็นนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน”
คำพูน บุญทวี  เดิมชื่อ คูน  เกิดเมื่อวันที่ ๒๖   มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร) เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมด ๗ คน ของนายสนิทและนางลุน บุญทวี  คำพูนเรียนหนังสือที่บ้านเกิดจนจบชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ ๖ จากโรงเรียนปรีชาบัณฑิต  อำเภอเมือง  จังหวัดยโสธร 
ลูกอีสาน เป็นการนำเอาเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนพบเห็น ถ่ายทอดในรูปของนิยาย โดยการเขียนเป็นตอนๆ ทั้งหมดประมาณ ๓๖ ตอน เพื่อตีพิมพ์ลงในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๑๙   ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องราวโดยผ่านเด็กชายคูน ก็คือตัวของผู้เขียนนั่นเอง  ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นชนบท ภาคอีสาน ดินแดนแห่งที่ราบสูงที่จัดได้ว่าเป็นถิ่นที่แห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเด็กชายคูน อันประกอบด้วยพ่อแม่ และลูกอีกจำนวน ๓ คน รวมทั้งเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันนั้น ที่ไม่ได้มีความแตกต่างกันนัก นั่นก็คือ ความยากจนข้นแค้นต้องอาศัยการหาอาหารตามธรรมชาติทุกอย่างที่กินได้ จนเมื่อความแห้งแล้งอย่างรุนแรงมาเยือนจนยากที่จะสู้ทนกับความโหดร้ายของธรรมชาติได้ หลายครอบครัวเพื่อนบ้านก็เริ่มอพยพออกไป  แต่ครอบครัวของเด็กชายคูน และกลุ่มที่สนิทชิดเชื้อกันยังคงสู้กับความแห้งแล้งอยู่ที่เดิม  เพราะเขามีพ่อและแม่ที่เอาใจใส่ ขยันขันแข็งไม่ย่อท้อต่อภัยและอุปสรรคต่างๆ  ตลอดจนมองเห็นความสำคัญของการศึกษา แม้จะยากจนอย่างไร เด็กชายคูนก็ได้เรียนหนังสือ เด็กชายคูนมีเพื่อนสนิทชื่อจันดี ผู้เป็นคู่หูในการทำอะไรด้วยกันตาม ประสาเด็กผู้ชาย แล้วยังมีครอบครัวของทิดจุ่นและพี่คำกอง สองสามีภรรยา เป็นต้น
ผู้เขียนได้เล่าถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนความเชื่อของชาวอีสาน โดยผ่านเด็กชายคูน รวมไปถึงการบรรยายถึงสภาพความเป็นไปตามธรรมชาติของผู้คนและสภาพแวดล้อม เช่น การเกี้ยวพาราสีกันของทิดจุ่นและพี่คำกอง จนท้ายที่สุดก็ได้แต่งงานกัน การออกไปจับจิ้งหรีดของคูน การเดินทางไปหาปลาที่ลำน้ำชีเพื่อนำปลามาทำอาหาร และเก็บถนอมเอาไว้กินนานๆ ด้วยการทำปลาร้า เป็นต้น เรื่องราวทั้งหมด นั้นเน้นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แสดงวิธีการของการดำรงชีวิตตามธรรมชาติในถิ่นอีสานเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นยังแทรกความสนุกสนามเพลิดเพลินจากการทำบุญตามประเพณีไว้หลายตอนด้วย ได้แก่การจ้างหมอลำ ซึ่งเป็นหมอลำประจำหมู่บ้าน ลำคู่กับหมอลำฝ่ายหญิงที่ว่าจ้างมาจากหมู่บ้านอื่น ทั้งกลอนลำและการแสดงออกของหมอลำทั้งสองได้สร้างความสนุกสนานครึกครื้นแก่ผู้ชมที่มาเที่ยวงานอย่างมาก
ลูกอีสานเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นบทสนทนาของตัวละครในเรื่อง จะใช้ภาษาถิ่น นั่นก็คือ ภาษาอีสาน และแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวอีสานว่าต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไร การเรียนรู้ที่จะอดทนเพื่อเอาชนะกับความยากแค้นตามธรรมชาติ ด้วยความมานะบากบั่น ความเอื้ออารีที่มีให้กันในหมู่คณะ ความเคารพในระบบอาวุโส สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในแต่ละตอนของลูก 
ลูกอีสาน นับเป็นเรื่องที่มีค่า มีรสชาติ และเปรี่ยมด้วยสาระที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมวิถีชีวิตของคนในชนบทที่น่าสนใจ ซึ่งผู้แต่งไว้เขียนให้เห็นภาพไว้หลายประการที่ควรแก่การวิเคราะห์วิจารณ์ โดยภาพสะท้อนที่พบได้จากเรื่องสามารถแยกเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้







ลูกอีสาน : สะท้อนสภาพวิถีชีวิตของชาวอีสาน
                สภาพบ้านเรือนของคนอีสานสะท้อนความยากจน
                “ ๔๗ ปี ครั้งกระโน้น...มีเรือนเสาไม้กลมหลังหนึ่ง  ยืนอาบแดดอันระอุอ้าวอยู่ใต้ต้นมะพร้าวอันสูงลิ่ว  ยามลมพัดฉิวมาแรงๆ  ผู้เป็นพ่อจะบอกลูกเล็กทั้งสามคนให้รีบไปอยู่ที่อื่น  มะพร้าวต้นนี้อาจจะหักลงมาทับเรือนเอาก็ได้  เด็กๆ ที่อยู่บนเรือนอาจจะแขนขาหัก
ถ้าลมพัดไม่แรงนัก  เด็กทั้งสามก็จะพากันนอนฟังเสียงซู่ซ่าตามฝาและมองหลังคาสายตาเขม็ง
ฝากั้นตับหญ้าคามุงหลังคาถูกแดดเผาจนแห้งกรอบเมื่อโดนลมพัด  มันจึงมีเสียงซ่าๆ  ถ้ามีเสียง  พ่อบอกว่าแล่นลงไปไวๆ  ก็จะได้วิ่งลงไปเร็วที่สุด ”
                จากข้อความข้างต้น เป็นข้อความเปิดเรื่อง โดยที่ คำพูน บุญทวี ผู้เขียน เปิดเรื่องด้วยการพรรณนาลักษณะสภาพบ้านเรือนและสภาพธรรมชาติ  ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นการพรรณนาถึงสภาพเรือนหลังหนึ่งที่ตั้งในหมู่บ้านทางภาคอีสานแห่งหนึ่ง  อยู่ท่ามกลางความแห้งแล้ง ลักษณะของเรือนเป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น มีใต้โล่ง หลังคาและฝากั้นเรือนมุงด้วยตับหญ้าคา ซึ่งถูกแดดลมแผดเผาจนแห้งกรอบ  พร้อมที่จะผุพังลงทุกครั้งเมื่อมีลมพัดมากระทบ  สะท้อนให้เห็นสภาพวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นแสนลำเค็ญ ของชาวชนบทอีสานได้อย่างชัดเจน  แม้ว่าอีสานในปัจจุบันจะพัฒนาจนได้ชื่อว่าเป็น  “ อีสานเขียว ”  แล้วก็ตาม
                ลูกอีสาน เป็นนวนิยายเรื่องที่มีค่า มีรสชาติ ละเปรี่ยมด้วยสาระที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมวิถีชีวิตของคนในชนบทที่น่าสนใจ ซึ่งผู้แต่งไว้เขียนให้เห็นภาพไว้หลายประการที่ควรแก่การวิเคราะห์วิจารณ์ โดยภาพสะท้อนที่พบได้จากเรื่องสามารถแยกเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้
               
สภาพวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชนบทภาคอีสาน

ลูกอีสาน,   นับแสนล้าน   พล่านพลัดถิ่น
เสาะหาอยู่    สู้หากิน   ดิ้นหาสุข
เสนอเนื้อ    สนองน้ำ    ในนามทุกข์
เคี่ยวอั่งอุก   ธรรมชาติ   วัฒนธรรม
ลูกอีสาน,    แต่วันวาน   บ้านกับโลก
เผชิญโชค   ตระเวนชะตา   ถลาถลำ
บนถนน   ข้างถนน    ผจญกรรม
ล่องลำแคน    สะทกสะท้าน   บ้านกับเมือง
ลูกอีสาน,   เล่าตำนาน   เนิ่นนานโน้น
เสียงตะโกน  อดีตก้อง   ทุกท้องเรื่อง
อนาคต    ปัจจุบัน    อันรองเรือง
ซับสืบเนื่อง   เลือดวิถี   โขง-ชี-มูล
ลูกอีสาน,   จิตวิญญาณ    ขานสำนึก
หลอมรู้สึก   มิรู้จบ    มิลบสูญ
ระคนคิด    ระคนคำ    ยิ่งค้ำคูณ
หนึ่งนักเขียน    ชื่อ    “คำพูน    บุญทวี”
(ไพวรินทร์  ขาวงาม)
๑๓ กันยายน ๒๕๔๙

บทประพันธ์ข้างต้น เป็นเพียงบทประพันธ์บางส่วนของ บทลูกอีสาน ประพันธ์โดย 
ไพวรินทร์   ขาวงาม   นับเป็นบทกวีที่บ่งบอกสะท้อนภาพความเป็นอีสาน แสดงให้เห็นถึงความยากจน
ความลำบากยากแค้น การต้องเสาะหาอาหารตามธรรมชาติทุกอย่าง การต่อสู้ชีวิตกับความทุกข์ยาก  การเดินทางรอนแรมเพื่อนไปหาปลาหาอาหาร เปรียบได้กับครอบครัวของคูนและครอบครัวของเพื่อนบ้านที่ออกเดินทางจากบ้านเพื่อไปหาปลาในแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์กว่า เพื่อที่จะเก็บมาไว้กินในฤดูกาลที่แห้งแล้ง
การอพยพโยกย้ายที่อยู่เพื่อไปหากินเป็นอีกวิถีชีวิตของชาวอีสาน เพื่อความอยู่รอดของชีวิต ด้วยความแห้งแลงชาวอีสานในสมัยนั่นจึงจำเป็นต้องเดินทางอพยพพาครอบครัวไปอยู่ที่ใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่จะทำให้ชาวอีสานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  

                เช้ามืดวันหนึ่งมีเสียงเซ็งแช่ที่หน้าบ้าน  คูนตื่นขึ้นก็เห็นพ่อกับแม่เปิดประตูเรือนลงไป  จึงลุกขึ้นลงเรือนตามลงไปด้วยความสงสัย  มีเกวียนเทียมวัวสามเล่มจอดอยู่ที่ถนน  ทำให้คูนเข้าใจว่าคงพากันไปหาปลาร้าเหมือนพวกก่อนๆ  แต่เมื่อเห็นลุงสีพาเมียตรงเข้ามาจับมือพ่อกับแม่  คูนจึงรู้ว่าเขาพากันย้ายไปอยู่ที่อื่น  เด็กๆ ลูกของพวกนั้นต่างอุ้มลูกหมาและไก่โจ้น  ตามาเป็นแถวๆ ส่วนความสองสามตัวนั้นถูกล่ามเชือกไว้ทางด้านหลังเกวียนเล่มถัดๆ กันไป พ่อพูดกับลุงแก้วว่า
                                “ลุงไปก่อน  ถ้าทนไม่ได้ฉันจะพาแม่บักคูณตามไป”
                                ส่วนแม่พูดกับผู้หญิงแก่ๆ อีกคนหนึ่งว่า
                                “ถ้ามีปลาส้ม  หรือปลาตัวโตๆ ก็พามาให้กินด้วย”
                เมื่อขบวนเกวียนเคลื่อนออกเสียงเซ็งแซ่ก็ดังขึ้นอีก คูนยืนอยู่ใกล้ๆแม่มองดูขบวนเกวียนนั้นจนลับสายตา  คูณถามแม่ว่า
                                “พวกลุงนั้นจะไปอยู่ที่ไหนล่ะแม่”
                                “ไปอยู่บ้านดินดำน้ำชุ่ม ปลากุ่มบ้อนคือแข้แกว่งหาง”  แม่ว่า
คูนได้ยินคำพูดอย่างนี้บ่อยๆ แต่คูนไม่เคยสนใจ  เพิ่งจะมาสนใจคราวนี้  จึงถามแม่อีกว่า
                “บ้านดินดำน้ำชุ่มคืออย่างไรล่ะแม่
แม่อธิบายว่า คือ ที่ทำนาได้ทุกปี  ปลาในน้ำก็มีตัวโตๆ  เวลามันโดดน้ำเหมือนกับจระเข้ฟาดหาง
                คูนตามพ่อขึ้นไปบนเรือน  แล้วถามพ่อว่า
                “เมื่อใดพ่อจะพาพวกผมไปอยู่บ้านที่มีปลาเล่นน้ำเหมือนจะเข้ฟาดหางล่ะพ่อ”
(คำพูน  บุญทวี, ๒๕๕๖ : ๑๕-๑๖)

ด้วยสภาพของของความแห้งแล้งของธรรมชาติส่งผลให้การดำรงชีวิตการหาอาหารของชาวชนบทอีสานที่ส่วนใหญ่นั่นจะอาศัยการหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นจากป่า และแหล่งหนองน้ำ ในความทุกข์ยากลำบาก ความขาดแคลนเรื่องอาหาร สภาพของธรรมชาติที่แห้งแล้ง สภาพของธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการหาอาหารเพื่อประทังชีวิตเช่นนี้  จึงทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องมีการอพยพย้ายไปอยู่ที่อื่นที่อุดมสมบูรณ์กว่า ซึ่งจะเห็นได้จากครอบครอบของลุงสีที่กำลังจะพาครอบครัวอพยพย้ายไปอยู่ ยังหมู่บ้านที่  “ดินดำน้ำชุ่ม  ปลากุ่มบ้อนคือแข่แกว่งหาง”   ดังข้อความ

                                “พวกลุงนั้นจะไปอยู่ที่ไหนล่ะแม่”
                                “ไปอยู่บ้านดินดำน้ำชุ่ม ปลากุ่มบ้อนคือแข้แกว่งหาง”  แม่ว่า

ข้อความที่ว่า “ดินดำน้ำชุ่ม  ปลากุ่มบ้อนคือแข้แกว่งหาง”  ซึ่งหมายถึง ดินที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งจะมีสีดำและมีน้ำที่ใสจนสามารถมองเห็นดินที่อยู่ใต้น้ำและมองเห็นตัวปลา  ข้าวปลาอาหารก็บริบูรณ์ดี  เหมาะแก่การตั้งหลักปักฐานเป็นที่อยู่ เพราะมีความอุดมสมบูรณ์เรื่องข้าวปลาอาหารนั่นเอง






ลูกอีสานสะท้อนวิถีการหาอาหารจากธรรมชาติ
การเตรียมตัวและอุปกรณ์เครื่องมือเข้าป่าหาอาหารหน้าแล้ง  เมื่อความแห้งแล้งมาเยือนในฤดูแล้ง ชาวอีสานจะอาศัยหาอาหารจากป่า หรือที่คนอีสานเรียกว่า “โคก”  ป่าหรือโคกจะมีของป่าหลากหลายที่สามารถนำมาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นพืช  เป็นสัตว์ป่า  ชาวอีสานมักจะพากันเข้าป่าเพื่อหาอาหารในหน้าแล้ง  ในเรื่องลูกอีสานก็เหมือนกัน ที่ผู้เขียนได้เขียนสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตการเข้าป่าเพื่อหาอาหาร ผ่านตัวละครคือคูนกับพ่อ นอกนั้นยังแฝงไปด้วยความรู้เทคนิคในการเข้าป่าเพื่อหาอาหารในรูปแบบวิธีต่างๆด้วย ในการเข้าป่าแต่ล่ะครั้งจะต้องมีการเตรียมอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือที่จะใช้ในการล่าสัตว์และหาของป่า สำหรับชาวอีสานส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ต้องมีเมื่อจะเข้าป่าคือ เครื่องมือหรืออาวุธในการล่าสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็น หน้าไม้ ลูกศร มีดพร้า ขวาน กระบอกน้ำ และข้องเป็นต้น   นอกจากเครื่องไม้เครื่องมือแล้วสิ่งที่ต้องเตรียมและจะขาดไม่ได้ก็คือ ห่อข้าว เพื่อจะได้กินเมื่อหิวในระหว่างที่เข้าป่าหาอาหาร  กับข้าวที่ห่อนั่นก็เป็นอาหารหลักง่ายๆ นั่นก็คือ ข้าวกับแจ่วปลาร้านั่นเอง  ดังเนื้อเรื่องตอนหนึ่งที่ว่า

“เด็กน้อยคูนไม่เคยไปเที่ยวป่าหรือบนโคกสักหน  เพราะแม่รักคูนมากไม่อยากให้คูนลำบาก  แต่คูนก็ได้ไปกับพ่อจนได้ในวันหนึ่ง  แม่จัดข้าวห่อกับแจ่วปลาร้าใส่พายผ้าขาวม้าให้พ่อ  แล้วพายี่สุ่นและบุญหลายน้องหญิงของคูนลงเรือนหายไป
พ่องึมงำพักหนึ่งแล้วเอาผ้าขาวม้าที่มีข้าวห่ออยู่ในนั้นขึ้นเคียนเอวและไปปลดหน้าไม้กับกระบอกลูกศรลงมาแบกไว้บนบ่าขวา  สะพายข้องสำหรับใส่จักจั่นขึ้นบ่าซ้าย แล้วบอกคูนไปหยิบเอากระบอกตังสำหรับติดจักจั่นที่พ่อทำด้วยยางข่อยปนน้ำมันยาง  คูนดีใจมากเพราะไม่เคยไปเที่ยวป่า เมื่อลงเรือนไปไอ้มอมกับไอ้แดงหมาสองตัวก็ร้องเอ๋งๆ เพราะมันรู้ว่าจะได้เข้าป่าไปไล่พังพอนหรืออีเห็นกันอีก”

อุปกรณ์เครื่องมือและวิธีการดักนกขุ้ม
ไปดักนกขุ้ม เป็นตอนหนึ่งในลูกอีสานที่สะท้อนวิถีชีวิตการหาอาหารจากธรรมชาติในการดักนกขุ้มจะต้องมีอุปกรณ์คือ “ซิง”  “ซิงดักนกขุ้ม”  ซิงหรือตาข่ายเป็นอุปกรณ์ในการดักนกของคนในสมัยก่อนและในปัจจุบันก็มีให้เห็น และใช้เป็นอุปกรณ์ดักนกชนิดหนึ่ง ซึ่งในการทำซิงก็มีขึ้นตอนไม่มาก สามารถทำได้ในการสานตาข่ายซิง โดยใช้เชือกไนล่อนเส้นเล็กวันหนึ่ง ๆ ทำได้หลายหลังสำหรับคนที่มีความชำนาญในการจักสาน และตุ้มสำหรับใส่นกขุ้มเวลานกขุ้มมติดซิงก็สามารถนำนกใส่ไว้ในตุ้มได้
ลักษณะอุปกรณ์ของซิงดักนก :ทำเป็นตาข่ายสานด้วยเชือกไนล่อนเส้นเล็กพร้อมด้วยไม้ไผ่จักตอกให้ไม้ไผ่กลม 1 ลำ สำหรับทำคันตาข่าย เวลาดักนกต้องทำให้ไม้ไผ่โค้ง
การไป ดักนกขุ้ม ต้องสำรวจพื้นที่ก่อน เช่น หัวดอน ชายป่า เป็นต้น หรือตามพื้นที่ที่เห็นรอยของนกขุ้ม  ส่วนใหญ่ ทำก่อนเกี่ยวข้าว เช่น ปักซิงไว้ มุมของตะบิ้งนา  แล้วเกี่ยวข้าวไปเรื่อยๆ จะเป็นการไล่ต้อนนกขุ้มไปในตัว จนมันหนีไปโดนตาข่ายที่เราดักปักไว้ เอง  ดังเนื้อเรื่องตอนหนึ่งที่ว่า

ตีนโคกอีแหลวคือที่ดักนกขุ้มของพ่อ  เมื่อขึ้นไปถึงตีนโคกพ่อก็กวาดใบไม้แห้งออกให้เตียนๆแล้วปักตาข่ายลง คลี่ตาข่ายออกให้ทั่วแล้วจึงไปปักอีกอันถัดๆกันไป  ตาข่ายนี้ถ้ามองไม่ดีจะไม่เห็นเลยว่าเป็นตาข่าย  เพราะเส้นป่านเล็กๆสีข่าวทำให้มองแทบไม่เห็นเลย
“เดี๋ยวเฮาไปนอนร้องเป็นเสียงนขุ้ม  มันจะวิ่งมาหาเฮา”  พ่อว่าพรางปักเสาตาข่ายลงดิน
เมื่อตาข่ายถูกปักเรียบร้อยแล้ว  พ่อจึงพาคูนกลับลงมานอนพังพาบห่างตาข่ายสัก ๒๐ วา แล้วพ่อร้องขึ้นเสียงอูดๆ
“นกขุ้มร้องอย่างนี้บ่” คูนถาม
“อื้อ  ถ้ามีนกขุ้มมันนึกว่าเพื่อนมัน มันจะวิ่งมาทางเรา”
“ถ้ามันเห็นตาข่ายมันบ่หลีกหนีบ่”  คูนถาม
“มันบ่เห็นตาข่ายดอก  และมันกะวิ่งมาไวๆ พอชนตาข่ายสายเชือกตาข่ายที่ผูกอยู่กับคันก็สิรูดเข้าหากัน”  พ่อว่าแล้วร้องขึ้นอูดๆ
พ่อร้องอยู่อย่างนั้นนานสักชั่วโมง ก็รู้สึกเหนื่อยและเสียงอ่อนลงพ่อจึงบอกให้คูนช่วยร้องด้วย  แล้วคูนก็ร้องเหมือนพ่ออูดๆๆๆ  ไม่นานนักพ่อก็บอกว่าได้ยินเสียงพรืดๆ ของนกนกขุ้มดิ้น  แล้วพ่อก็วิ่งไปที่ตาข่าย พอคูนวิ่งไปถึงนกขุ้มตัวหนึ่งก็ดิ้นผับๆ อยู่ในตาข่ายอันหนึ่ง  สายป่านเล็กๆ ของตาข่ายรัดเข้าตามปีกและหางของมันแทบกระดิกไม่ได้  พ่อถอนคันตาข่ายขึ้นส่งให้คูนถือแล้วจึงไปเก็บตาข่ายอีกสี่อัน ”

การคล้องกิ้งก่า เป็นอีกวิธีหนึ่งในการหาอาหารการดักสัตว์ของชาวอีสาน ซึ่งเด็กผู้ชายในชนบทจะชอบไปทำ ดังในตอนหนึ่งของลูกอีสาน ที่เด็กชายคูนจะไปคล้องงกิ้งก่า ในระหว่างที่รอน้ำในบ่อ ตอนที่ไปตักน้ำเป็นเพื่อนเอื้อยคำกอง สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการหาอาหารจากธรรมชาติได้อีกมุมหนึ่ง ดังเนื้อเรื่องตอนที่ว่า
“ ดีเอื้อย  อยากดูนานๆ ”
“ งั้นไปคล้องกิ้งก่าเอาไหม  เอื้อยจะทำบ้วงให้ ”
“ เอาซีเอื้อย ไปหาคล้องกิ้งก่า ”  คูนบอก
เอื้อยคำกองแก้ผ้าขาวม้าที่พันรอบหน้าอกออกมาข้างหนึ่งดึงสายด้ายริมผ้าขาวม้าออกมาสี่ห้าเส้น  และถลกผ้าซิ่นขึ้นสุดโคนขา  ฟั่นด้ายให้เป็นเส้นเดียวกันอย่างเร็วไว เสร็จแล้วทำบ่วงกว้างเท่าด้ามมีด แล้วไปหักไม้แห้งยาวสองวามาผูกเข้าที่ปลายข้างหนึ่ง
“ อย่าไปไกลนะคูน  เดี๋ยวจะหลง ”
คูนเดินบุกป่าขึ้นไป  เสียงเอื้อยคำกองตะโกนตามหลังว่า  “ ถ้าพบมันก็ผิวปากผลอยๆ  มันจะผงกหัวให้แล้วคล้องคอมันเข้าไป ”

จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตการหาอาหาร การดักสัตว์ของชาวอีสาน ที่ผู้เขียนได้บรรยายถึงขั้นตอนและวิธีการไว้ได้อย่างเห็นภาพ   สะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยระหว่างคนกับป่าได้อย่างแจ่มชัด

ลูกอีสาน : สะท้อนภูมิปัญญาการดำรงชีวิตของชาวอีสาน
ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการแปรรูปและถนอมอาหาร
            ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ความรู้ ความสามารถ ความเชื่อ ความสามารถทางพฤติกรรมและความสามารถในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ของคนในแต่ละท้องถิ่น  เช่น ภูมิปัญญาด้านภาษา ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม  ภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหาร เป็นต้น  จากนวนิยายเรื่อง ลูกอีสานได้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาความสามารถในด้านการถนอมอาหารการแปรรูปอาหารของชาวอีสานไว้อย่างเด่นชัด ด้วยเหตุที่ภาคอีสานเป็นดินแดนที่แห้งแลง โดยเฉพาะในฤดูแล้ง น้ำในแหล่งน้ำต่างๆก็จะแห้งขอด ทำให้คนอีสานต้องเดินทางไกลเพื่อไปหาปลาตามแหล่งแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์  เพื่อหามาเก็บไว้รับประทานให้ได้ตลอดปีหรือตลอดหน้าแล้ง  ซึ่งในการเดินทางนั้นต้องใช้เวลานานเป็นแรมเดือนกว่าจะได้กลับบ้าน  ถ้าไม่มีการจัดการกับปลาที่หามาได้ ก็จะทำให้ปลาเน่าเสียหาย ไม่สามารถนำกลับไปเพื่อเป็นอาหารที่บ้านได้ ชาวอีสานจึงได้คิดและหาวิธีการต่างๆเพื่อเก็บรักษาปลาที่หามาได้ให้สามารถเก็บและถนอมไว้ให้ได้นานๆ เช่น
การทำปลาแห้ง ปลาเค็ม ปลาย่าง การทำหม่ำไข่ปลา การนำปลาร้า  การทำปลาส้ม  ดังปรากฏในเนื้อเรื่องบางตอนของลูกอีสานดังนี้
               
“ แม่เทปลาในข้องลงใส่กระด้งใบหนึ่ง  วิ่งไปหยิบกระดานเขียงกับมีดตอกเล่มหนึ่งจา
ในเกวียนมาวางลง แล้วเอาสันมีดตอกทุบหัวปลากดจนตายทีละตัว พลางพูดว่าปลาพวกนี้จะทำปลาแห้งตากแดดได้ ส่วนไข่ในท้องของมันจะทำหม่ำไว้กิน หม่ำที่แม่ว่า  คูนเคยกินแต่ไม่เคยเห็นแม่ทำสักที ”

                “ แม่ทำปลาเค็มก่อนทำหม่ำคือ  แม่เอากะลามะพร้าวตักเกลือมาเต็มกะลาหนึ่งแล้วโรยลงไปในกองปลาก่อน  จึงเอามือซาวปลาอยู่พักหนึ่งจึงกอบปลาใส่ในไหจนหมด  คูนถามแม่ว่าทำไมไม่เอาเครือไม้ร้อยแขวนผึ่งแดดผึ่งลมไว้บนต้นไม้  แม่ก็บอกว่าต้องหมักเกลือไว้สักหนึ่งคืนก่อนจึงเอาออกตากแดด มันกินอร่อย
                ที่นี้แม่ก็ทำหม่ำไข่ปลา  แม่ทำไม่ยากเลย และทำเหมือนกันกับส้มปลาน้อยที่แม่ทำมาแล้ว  แม่เทไข่ปลาในใบตองใส่ถ้วยฝาละมี  ซึ่งทำด้วยหินขนาดเท่ากับจานใส่ขาวแต่ก้นลึก  ขยำไข่ปลาให้แตกจนทั่วถึงโรยด้วยข้าวคั่วและเกลือสักสามช้อนลงไปแล้วขยำ  อีกสักครู่แม่ก็ตำหัวหอมและกระเทียมแห้งลงในครกจนแหลก แล้วเทลงไปจึงขยำไข่ปลาอีกเสียงพลวกพราก  สักครู่แม่ก็บิข้าวเหนียวนึ่งโรยลงไปอีกสักครึ่งกล่องไม้ขีดไฟจึงขยำๆ และซาวไปมา
                แม่ทำหม่ำไวมาก  กลิ่นคาวของไข่ปลาปนกับเครื่องชวนอยากให้กินเหลือเกิน  แม่หยิบไข่ปลาขึ้นแตะปากนิดหนึ่ง พูดเบาๆว่า  “พอดี”
คูนจึงถามว่า  “พอดียังไง”  แม่ก็บอกว่า  ไม่เค็มไม่จืดเกินไป
                “อีกจักมื้อกินได้”  คูนถามแม่j
                “เจ็ดมื้อขึ้นไป”  แม่บอก
                แม่บอกอีกว่าการทำหม่ำนี้ไม่ใช่จะทำได้แต่ไข่ปลา เอาเนื้อปลาหรือเนื้อวัวควายทำก็ได้  แต่ต้องสับให้ละเอียดเสียก่อน  คูนก็ได้แต่พยักหน้าอยู่หงึกๆ  เพราะว่าหม่ำเนื้อวัวหรือหม่ำเนื้อควายคูนได้กินมาแล้ว  แต่ดูเหมือนมันนานเหลือเกิน ”
               
                “โฮ  ปลาดุก ปลาค่อ  มีแต่โตงามๆ  เท่าแขน”   แม่ว่า
“ ปลาเข็งก็ตัวใหญ่    เฮ็ดปลาแดกได้หมด ”   พ่อว่า
พ่อไม่ยอมพักผ่อนเลย ไปเอาพร้ากับกระดานเขียงสองเขียงมาวางลง  แล้วจับปลาหมดในครุขึ้นมาทีละตัว เอาสันพร้าทุบหัวปลาหมอทีเดียวจนตาย  แล้วก็ขูดเอาเกล็ดออกอย่างว่องไว ผ่าท้องเอาขี้ออกวางลงในใบตอง เอาคมมีดกรีดตัวปลาหมอเป็นทางขวาง  เสร็จสรรพพ่อก็โยนลงไปในกระด้งที่วางอยู่ใกล้ๆ
แม่ทำปลาช่อนและปลาดุกสลับกัน  ตัวไหนใหญ่หน่อยแม่ก็ตัดออกเป็นท่อนๆ  ยาวสักสองนิ้วฟุต แม่ทำไวเหมือนกับพ่อ  คูนเห็นพ่อกับแม่เหงื่อไหลลงตามตัว จึงขอทำช่วย  แม่บอกว่า เอาซิลูกช่วยทุบหัวปลาช่อนปลาหมอและขูดเกล็ดมันออก  แม่จะกันและผ่าท้องมันเอง แล้วคูนก็ลงมือทำตามแม่บอก
“ ปลาแดกบางตัวที่กินบ่เห็นเอาขี้ออก ”   คูนถามแม่
แม่บอกว่าใช่แล้ว   ปลาตัวเล็กๆ  ที่ทำปลาร้าส่วนมากเขาไม่เอาขี้ออก   จะเอาขี้และไส้ออกก็ตัวใหญ่ๆ อย่างนี้เท่านั้น
ท่อนปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ กองอยู่ในกระด้งใบใหญ่แล้ว  พ่อของคูนจึงลุกเดินไปทางแม่น้ำ บอกว่าจะไปล้างตัว  ให้แม่ทำปลาร้าคนเดียว แล้วเรียกหมาตามไปเสียงจุ๊ๆ
แม่ยกกระสอบเกลือ ที่สานด้วยไม้ไผ่ทับใบตองมาวางลง  หยิบกะลามะพร้าวอันหนึ่งขึ้นมาตักเกลือเทโรยลงไปที่ปลาในกระด้งห้ากะลา  แล้วเอามือซาวเกลือให้เข้ากันกับปลาจนทั่ว  แล้วแม่ตักเกลือเทลงไปอีกกะลาจึงเอาสองมือซาวปลาอีกที   คูนถามว่า ทำไมต้องใส่เกลือมากอย่างนี้   แม่ก็บอกว่า ไม่มากเลย
คูนถามว่า จะใส่อะไรอีกจึงจะเป็นปลาร้า  แม่จึงพูดว่า  “ จำไว้ให้ดีนะลูก วิธีทำปลาแดกต้องใส่เกลือ ๑ ส่วน
ต่อปลา ๒ ส่วน เมื่อคลุกปลาให้เข้ากับเกลือดีแล้วจึงใส่รำอ่อนลงไปอีกประมาณ ๕ ส่วนต่อรำอ่อน ๑ ส่วน หรือกะลาที่ใช้ตักอยู่นี่หละ  รำกันบูดนะลูก ”
แล้วแม่ก็คลุกปลาไปเรื่อยๆ ต่อจากนั้นแม่ก็บอกให้คูณไปเอาครกตำแจ่วกับสากมาวางลง แม่บอกว่าจะต้องตำปลาเหล่านี้อีกจนเนื้อปลานุ่ม  แล้วแม่ก็เอาสองมือกอบปลาในกระด้งใส่ในครกตำฉุๆ  แม่บอกว่า ถ้าอยู่บ้านก็ตำใส่ครกตำข้าวที่เดียวเป็นเสร็จพิธีทำปลาร้า   แล้วเอาใส่ไหไว้ แม่ตำปลาเหล่านั้นจนได้ที่ แล้วเอาออกมาใส่ในไหจนหมด  ไหปลาร้านี้มีขนาดเขื่องๆ เมื่อหมดปลาในกระด้งก็ต้องใช้ไหสองใบ
แม่เอามือกดปลาร้าลงไปจนแน่นแล้วเอากะลาครอบที่ปากไห  แม่อธิบายให้ฟังอีกว่า ถ้าปลาไม่ถึงเกลือมันจะกลายเป็นปลาร้าเหม็น  ถ้าอยากเอาไว้กินนานๆ เป็นปีๆ ต้องใส่เกลือให้มากๆ คือเกลือ ๑  ส่วน ต่อปลา ๑ส่วน และบางคนเขาใส่ข้าวตอกแตกลงไปก็มี  ข้าวตอกแตกคือข้าวเปลือกเอามาคั่วให้แตก  และบางคนจะจะทำปลาร้า เขาซาวเกลือกับปลาไว้ก่อนถึงหนึ่งคืน  จึงเอามาปนกับรำอ่อนจึงตำในครก แล้วใส่ไหไว้
“ ที่ทำอย่างนั้นก็เพราะต้องการให้ชิ้นปลาแข็งและน่ากิน ”  แม่ว่า
“ ปลาตัวเล็กๆ  ที่เฮาเคยกินเขาตำใส่ครกบ่ ”    คูนสงสัย
“ บ่ เขาใส่เกลือ ใส่รำอ่อนแล้วซาวเข้ากัน เอาใส่ไหเลย ”
“ นานเท่าใดจึงสิเป็นปลาแดกให้กินได้ ”   คูนถามอีก
“ หนึ่งเดือนขึ้นไป ”   แม่ว่า
แล้วคูนก็ท่องวิธี ทำปลาแดก ปลาร้า ที่แม่สอน ว่า
                “เกลือ ๑ ส่วน ต่อปลา ๒ ส่วน กับใส่รำอ่อน ๑ ส่วนต่อปลา ๕ ส่วน  แล้วใส่ครกตำจนเนื้อปลานุ่มๆ เพื่อให้ปลาเข้ากันกับเกลือและรำ ที่ใส่รำก็เพราะรำเป็นยากันบูดเน่า ถ้าอยากเอาไว้นานๆ และกินข้ามปี
ต้องใส่เกลือมากๆ คือ ๑ ส่วนต่อ ๑  ส่วน และเป็นปลาร้าตัวเล็กไม่ต้องตำ และไม่ต้องเอาขี้มันออกคือซาวกับเกลือและรำใส่ลงในไหเอาไว้สักหนึ่งเดือน  ก็เป็นปลาแดกกินได้”
               
จากข้อความที่ยกมา แสดงให้เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนอีสาน ที่มีความสามารถในการจัดการแก้ไขปัญหาการเน่าเสียของอาหาร เป็นการแปรรูปและการถนอมอาหารหรือเพื่อให้สามรถเก็บไว้กินได้นานๆในยามที่ขาดแคลนที่ไม่สามารถหาอาหารประเภทนี้ ได้เป็นอย่างดี  ซึ่งผู้เขียนได้ใช้กลวิธีการเขียนแบบบรรยายทำให้สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน

อัตลักษณ์ถิ่นอีสานในนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน”
            ภาษาถิ่นอีสาน อัตลักษณ์ที่ชาวอีสานภูมิใจ
                จากเรื่อง ลูกอีสานพบว่า บทสนทนาของตัวละครนั้น จะใช้ภาษาถิ่นอีสาน  รวมทั้งการเล่าเรื่องดำเนินเรื่องผู้เขียนก็ได้ใช้ภาษาถิ่นเป็นส่วนใหญ่ในการเล่าเรื่อง  ได้แก่

“ เป็นหยัง ”  คูนถามทันที
“เว้ากับแกวมันบ่อแล้วจั๊กเทือ คือมันหัวหมอ”…………………
“อย่าจุ่มบ่อยนักมันจะหมด  อ้อมไปทางหนองน้ำหานกยิงดีกว่า”…………….
“บ้านดินดำน้ำชุ่ม”..................
“อย่ากัดคำใหญ่ๆซิ”  ยี่สุ่น ต้องกินข้าวมากๆ กว่าไข่”...............
“ เอ้า  ตกลงมาให้นากูห่งในซ่งกูเปียก”...........
“พ่อว่าเท่านั้น  ก็มีเอื้อยคำกองลูกลุงใหญ่ซึ่วเป็นพี่ชายของพ่อหาบครุสำหรับใส่น้ำตรงมา ถึงเอื้อยคำกองจะมีผิวคล้ำก็ดูเต่งตึงทุกส่วน ทรงผมเซียงเกิ้ลเห็นจอนผมบางๆ  รับกันกับตุ้มหูสีเหลืองลูกเล็กๆ สองข้าง ทำให้ดูเอื้อยคำกองสวยขึ้นกว่าเก่า  ผ้าซิ่นหมี่ที่นุ่งถึงจะเก่าไม่เห็นลายดอกก็กลมกลืนกันกับผ้าขาวม้าเก่าๆ ที่รัดหน้าอกอยู่ คูนเห็นเอิ้อยคำกองที่ใดก็ไม่เคยเห็นใส่เสื้อสักที”
“แม่นแล้วลูกเอ๋ย  เป็นผู้สาวแล้วต้องมีผู้บ่าว”
“ก็กูถามซือๆ มันสิเป็นอีหยัง”...............
“บัดนี้ พวกเฮาต่างคนต่างไปเฮือน ยามเพลให้เอาของกินแซ่บๆ ไปวัดพร้อมๆ กัน”
“เป็นหยังเฮือนข่อยจึงเปียกฝน”  คูนถามป้าคำพา
“ก็ฝาเฮือนมึงกั้นใบตอง  ใบตองมันแห้งแตก  ฝนก็สาดเข้าใส่นะ”  ป้าคำพาบอก
“ฮ่วย   ลูกบักเข้มเอ๊ย  กูแก่แล้วสิเอาผัวจังได๋  กูบ่สำบาย  กินข้าวบ่ได้  เจ็บท้องเจ็บเอวมาหลายมื้อแล้ว”
“โฮ  ในแจ้งจ่างป่างไปหมด”  จันดีร้องขึ้น
“พวกเฮาฟังทางนี้ก่อน  บัดนี้ผู้ใหญ่บ้านข่อยขึ้นมาเว้าว่ายามหมอลำฟ้อนเกี้ยวกันไผสิว่ากลอนสอยก็ได้ ไผสิร้องขึ้นจั่งได๋ก็ได้ แต่ยามหมอลำว่ากลอนลำ อย่าพากันเว้าดังๆ หลาย  พระสงฆ์องค์เจ้าอยู่บนโรงเรียนพุ่น ฟังบ่ได้ยิน”
“หมอลำสิลำฮอดสอดแจ้งบ่”  เสียงทิดฮาดสวนไป
“ฟ้าแจ้งจ่างป่างเลยหละพวกผู้บ่าวผู้สาวทางพุ่นก็อย่าเว้ากันดังๆ หลาย  ไผสิแล่นไปนำกันกูก็บ่ว่า  แต่ขอให้กลับมาไหว้พ่อไหว้แม่จั๊กเทื่อแน่  อย่าพากันไปหายจ้อยเท่านั้นแหละ”

                ตัวละครในเรื่องใช้ภาษาอีสานในการสนทนา  สำเนียงที่พูดแบอีสานขนานแท้  การใช้ภาษาถิ่นอีสานแสดงถึงอัตลักษณ์ของคนอีสาน  ภาษาถิ่นอีสานมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่ต่างจากภาคอื่นๆของไทยได้อย่างชัดเจน  แสดงให้เห็นว่าชาวอีสานมีความภูมิใจและยังคงสืบทอดวัฒนธรรมทางภาษาซึ่งนับว่าเป็นอัตลักษณ์ของคนอีสานอย่างเข้มแข็งและยังคง  

ภูมิปัญญาภาษาถิ่นอีสานสู่บทผญาเกี้ยวพาราสี
  ผญา   เป็นศิลปะการใช้ภาษาของคนอีสานในอดีต เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ผญา หรือ คำผญา เป็นบทร้อยกรองแบบอีสานที่ใช้พูดโต้ตอบกันมีจังหวะทำนองเฉพาะตัว เป็นการพูดที่ต้องใช้
ไหวพริบ สติปัญญา มีเชาวน์ มีอารมณ์คมคาย พูดสั้นแต่กินใจความมาก
การพูด   “ผญา”   เป็นการพูดที่กินใจ การพูดคุยด้วยคารมคมคาย ซึ่ง    “ผญา มีบทบาทและความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อวิถีดำเนินชีวิตของคนชนบทอีสาน ในการใช้สำหรับสั่งสอนลูกหลาน ใช้สำหรับการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาวหรือกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การทำนา เกี่ยวข้าวหรือกิจกรรมตามประเพณีพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
ผญาเกี้ยว เป็นผญาพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาว ที่เรียกกันว่า  “จ่ายผญานั้นเอง”  หรือ
“เว้าโตงโตย”  การเกี้ยวสาวมักจะเป็นเวลากลางคืนที่ว่างจากงานกลางวัน หรือการทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ บริเวณลานบ้านที่เรียกว่า “ข่วง” หรือ “ลงข่วง” ผญาเกี้ยวมีจุดมุ่งหมายเพื่อค่อนแคะ เสียดสี ตัดพ้อ ต่อว่า ต่อว่าโดยไม่นิยมพูดออกมาตรง ๆ เช่น ในช่วงจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว โดยจะมีการชุมนุมระหว่างบ่าวสาว
และฝ่ายหญิงจะมีกิจกรรม เช่น ดีดฝ้าย เข็นฝ้าย สาวไหม ขณะเดียวกันฝ่ายชายก็จะมีการร่วมวงโดยมีการ “เล่นสาว” หรือ “เว้าสาว” โดยดีดพิณและเป่าแคนเป็นทำนองพื้นเมืองของชาวอีสาน พร้อมทั้งสนทนาเกี้ยวพาราสีกันด้วยภาษาเฉพาะที่เรียกว่า “ผญาเครือ” หรือ “ผญาเกี้ยว  ( คมคาย  จินโจ ,๒๕๕๕ : ออนไลน์)
               
เรื่องลูกอีสาน การแสดงออกของตัวละครยังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางภาษาที่สืบทอดกันมาแต่ช้านาน เป็นความสามารถในการพูดผญาการเกี้ยวพาราสี ใช้ในการพูดตอบโต้ระหว่างผู้บ่าวกับผู้สาวในหมู่บ้าน ดังเนื้อเรื่องบางตอนว่า

                “ คำกองเอ๋ย   ความมักความฮักมากลุ้มคือสุ่มงุมกระทอ  ความฮักมาพอๆ คือกระทองุมไว้  คันอ้ายได้น้องสิพาล่องโขงไปเวียงจัน  เอาผ้าแพรไหมสีมันๆ แลกงัวมาแก่ข้าว ”
                หมายความว่า ความรักมาสุมอกก็เปรียบเหมือนสุ่มครอบเข่งใส่เส้นยาสูบ  ยิ่งรักมากๆ ขึ้นก็เหมือนเข่งยาสูบครอบหัวไว้จนมืดมนไปหมด  และถ้าพี่ได้น้องเป็นเมียจะพาข้ามแม่น้ำโขงไปเมืองเวียงจันทร์  เพื่อเอาผ้าไหมไปแลกวัวตัวงามๆ มาเทียมเกวียนบรรทุกข้าวเปลือก
                ผญาข้างต้น เป็นตอนที่ทิดจุ่นพูดโต้ตอบกับคำกอง ซึ่งทั้งสองคนนั้นรักกัน ทิดจุ่นจ่ายผญาเกี้ยวคำกองตอนที่คำกองไปตักหาบน้ำกับคูน
               
                “ตั้งแต่เป็นสาวขึ้นบ่มีเครือสิเกี้ยวไหล่เด๊   อ้ายเอยตั้งแต่เป็นต้นไม้เครือสิเกี้ยวก็บ่มี”
หมายความว่า  ตั้งแต่โตเป็นสาวขึ้นมายังไม่เคยมีชายคนไหนมาเกี้ยวมาจีบ      
แล้วน้อยนี่ล่ะมีคนมาจองแล้วหรือคู่ซ้อนแล้วบ่”  ทิดจุ่นชี้มือใส่สาวที่แขวนตุ้มหู  แล้วสาวนั้นก็พูดขึ้นว่า
“ปอดอ้อยส้อย  คืออ้อยกลางกอ  กาบบ่ห่อหน่อน้อยบ่ซ้อนซู้ บ่ซ้อนผัวข้อยกะบ่มี”
หมายความว่า   ยังผุดผ่องเหมือนลำอ้อยที่ผุดขึ้นกลางกอใหม่ๆ ยังไม่มีกาบห่อและหน่อแตกแขนงออกข้าง  และทั้งชู้ทั้งผัวก็ยังไม่เคยมีสักคน
“อ้ายนี้ทุกข์หลายๆ น้อยเอ๋ย  อยากสิมาหาเฮ็ดนาทางนี้  แต่เงินคำก็บ่มีสักเฟื้อง”
หมายความว่า  พี่นี้เป็นคนทุกข์ยาก  อยากจะมาอยู่กับน้องช่วยทำนา  แต่ก็ไม่มีเงินสักเฟื้อง

จากข้อความผญาข้างต้น ซึ่งปรากฏในเรื่อง แสดงให้เห็นว่า คนอีสานเป็นผู้มีความสามารถและไหวพริบในการใช้ภาษาถิ่น นับว่าเป็นศิลปะการใช้ภาษาของคนอีสานในอดีต เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า
สะท้อนให้เห็นว่า ภาษาถิ่นอีสาน ที่นำมาพูดเป็น ผญา มีบทบาทและความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อวิถีดำเนินชีวิตของคนชนบทอีสาน  แสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของชาวอีสานได้อย่างแข็งแกร่ง  
นับได้ว่า ผญามีบทบาทต่อสังคมอีสานที่สืบทอดมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นการถ่ายทอดความรู้และสั่งสอนแก่ลูกหลานและมีบทบาทต่อความบันเทิงนอกจากนั้นยัง เป็นเครื่องมือให้การศึกษาแก่คนในสังคมให้เกิดความรักและสามัคคีซึ่งกันและกัน สร้างความเพลิดเพลิน ดังนั้นเยาวชนคนรุ่นหลังควรรักษาเอกลักษณ์ทางภาษาของคนอีสานไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ
แต่ในปัจจุบัน ผญา กำลังจะสูญสลายไปเพราะไม่ได้รับความสนใจจากเยาวชนรุ่นหลังเท่าไหร่นัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องช่วยกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้ไว้มิให้สูญสลาย หากจะกล่าวถึงความงดงามทางด้านภาษาของผญาแล้ว ความลึกซึ้งและความงามของภาษาที่นำมาเรียบเรียงเป็นคำผญามักจะแฝงความหมายไว้อย่างลึกซึ้งถ้าหากเพียงแต่ฟังอย่างผิวเผินมิได้คิดตามพินิจพิจารณาถ้อยคำของผญาแล้วก็ ยากที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของผญา ได้  จึงนับได้ว่า ผญา เป็นภูมิปัญญาและเป็นอัตลักษณ์ที่มีคุณค่าของคนอีสานขนานแท้

ความมีน้ำใจของชาวอีสานในนวนิยายเรื่อง “ ลูกอีสาน ”
ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกันนับเป็นสิ่งที่ดีที่เราทุกคนควรมีและควรตระหนักเสมอ ชาวชนบทอีสานเป็นกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่ความมีน้ำใจไม่เคยขาดหายไปจากคนอีสาน  การช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันและกันเป็นสิ่งที่คนอีสานมีไม่เคยขาด  ชาวอีสานถือได้ว่าเป็นกลุ่มชนที่มีน้ำใจงาม แม้คนอีสานจะยากจนแต่คนอีสานนั้นไม่เคยจนน้ำใจ จะเห็นได้จากนวนิยายเรื่อง ลูกอีสาน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมีน้ำใจ  มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกันอยู่เสมอ เช่น การแบ่งปันแลกเปลี่ยนอาหารแก่กัน   การช่วยเหลือกันและกัน 
การพึ่งพาอาศัยกันเป็นต้น  ดังเนื้อเรื่องบางตอนดังนี้
                 
“มาแวะกินน้ำก่อนซิ  แม่เด็กน้อยคูน”  เมียเจ๊กอู๋กวักมือเรียกแม่
“ลูกหลานใครเจ็บป่วยก็ให้มาเอายาที่นี่ ยากินยาฉีดก็มีทุกอย่าง ของกินของใช้ก็มีหลาย ไม่มีเงินเอาไปก่อนก็ได้นะ”
“ในพลันป้าบัวศรีอยู่เรือนห่างกันสักสองเส้นก็ถือลูกมะตูมสีเหลืองอ่อนขึ้นมาลูกหนึ่ง กะดูลูกมะตูมก็ราวๆ เท่ากำปั้นผู้ใหญ่ ป้าบัวศรีบอกว่าที่เรือนของแกก็กินข้าวกับแจ่วเหมือนกัน  หลวงพ่อเคนให้ลูกมะตูมสุกมาสองลูก นึกถึงบุญหลายจึงแบ่งมาให้ลูกหนึ่ง”
“แม่บอกว่าเอื้อยคำกองใจดี เอาผ้าขาวม้ามาฝากไว้ให้คูนนุ่งเล่นกับป่นปลาย่างให้แม่เก็บไว้ในครัว”
“คนหนึ่งพูดขึ้นว่าควรจะมีของกินดีๆ บ้าง เพราะพระบ้านอื่นก็มา บางเรือนมีญาติพี่น้องอยู่ไกลเขาก็อาจจะมา ถ้าของกินไม่ดีบ้านเราก็เสียชื่อ  ผู้ใหญ่บ้านว่าชื่อเสียงของคนเราไม่ใช่อยู่ที่มีของกินดีๆ มันอยู่ที่น้ำใจต่างหาก”
“เรื่องน้ำใจพ่อคูนเคยสอนคูนเหมือนกันว่า  คนดีมีชื่อนั้นคือคนรู้จักสงสารคนและช่วยเหลือคนตกทุกข์  ถ้าไม่มีสิ่งของช่วยก็เอาแรงกายช่วย  และไม่เบือกว่าคนนั้นจะอยู่บ้านใดอำเภอใด”

จากข้อความเนื้อเรื่องบางส่วนที่ยกมานี้ แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ  การช่วยเหลือพึ่งพากันและกันของชาวชนบทอีสาน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันดีงามของชาวอีสานได้อย่างแจ่มชัด  ความมีน้ำช่วยเหลือกันและกันเหล่านี้ยังคงสามารถพบเห็นและยังอยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวชนบทอีสานมาจวบจนถึงปัจจุบัน

สรุป
                ลูกอีสาน นวนิยายชั้นครูของคนอีสาน สะท้อนสภาพสังคมความเป็นอีสาน สภาพแวดล้อม
ด้วยวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ โดยดำเนินเรื่องเป็นตอนๆ บทสนนาของตัวละครใช้ภาษาถิ่นอีสาน มีความสนุกสนานเพลิดเพลินชวนติดตาม  อีกทั้งยังเสนอสภาพสังคมอัตลักษณ์ถิ่นของความเป็นชนบทอีสานในด้านต่างๆ  ทั้งภาษา วิถีชีวิต  วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนภูมิปัญญาในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการดำรงชีวิต การหาอาหารจากธรรมชาติ การแปรรูป การถนอมอาหาร  รวมทั้งภูมิปัญญาในการใช้ภาถิ่น
นับว่าทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมความและอัตลักษณ์ของความเป็นอีสานขนานแท้  ดังคำกล่าวที่ว่า “วรรณกรรมเป็นคันฉ่องสะท้อนยุคสมัย” โดยแท้


เอกสารอ้างอิง
คมคาย    จินใจ. (๒๕๕๕).  “ ผญา ภูมิปัญญาของคนอีสาน. [ออนไลน์]
 เข้าถึงได้จาก http://www.stou.ac.th/ study/sumrit/5-56(500)/page4-5-56(500).html สืบค้นเมื่อ ๒๖    กันยายน ๒๕๕๖
คำพูน   บุญทวี. (๒๕๕๖). ลูกอีสาน. กรุงเทพฯ : โป๊ยเซียน