ปริญญาลูกแม่ค้า : วรรณกรรมเพลงสุดซึ้งสะท้อนภาพสังคม
บทวิจารณ์โดย : นางสาวยุภาพร วาทสิทธิ์
เพลง...ปริญญาลูกแม่ค้า
ศิลปิน
: ศิริพร อำไพพงษ์
คำร้อง/ทำนอง
: สนชัย สมบูรณ์
เรียบเรียง
: ธีระพงษ์ ศักดิ์แก้ว
เนื้อเพลง
:
แม่ยอมลำบาก
เพราะอยากให้ลูกสบาย
เหนื่อยกายเหนื่อยใจ
ไม่ยอมพ่ายต่อโชคชะตา
นอนดึกตื่นเช้า
กลางวันเอาใจลูกค้า
เรียนน้อยแรงด้อยราคา
อาชีพแม่ค้าก็ต้องจำทน
สู้ไปไม่บ่น
อดทนเพื่อลูกเรื่อยมา
แม่อยากเห็นใบปริญญา
ที่แลกมาจากเหงื่อคนจน
เห็นลูกสู้แท้
ใจแม่ก็สุขเหลือล้น
ไม่ยอมให้ลูกอายคน
สู้ทนหาเงินส่งเรียน
*สิ้นเดือนเหมือนดั่งกับแม่สิ้นใจ
บางคราวไม่พอใช้จ่าย
ยืมเงินรายวันหมุนเวียน
แลกด้วยน้ำตา
จึงได้เงินมาเป็นค่าเรียน
หวังว่าลูกคงพากเพียร
สมกับที่แม่ตั้งตา..
**แม่คอยสานต่อ
นับตั้งแต่พ่อเจ้าจากไป
ลูกอย่าน้อยใจ
มุ่งมั่นไป อย่าแคร์ปัญหา
อาจมีบางครั้ง
เหนื่อยใจกับความเหว่หว้า
แม่คอยหอมใบปริญญา
ให้ลูกแม่ค้าคนนี้ทำได้..
..ซ้ำ*,**..
แม่หวังพึ่งใบปริญญา
ให้ลูกคว้ามา ซับน้ำตาใจ..
ปริญญาลูกแม่ค้า : วรรณกรรมเพลงสุดซึ้งสะท้อนภาพสังคม
เพลงปริญญาลูกแม่ค้า ขับร้องโดย
นักร้องเสียงอ้อนศิริพร อำไพพงษ์ ถือได้ว่าเป็นเพลงที่ให้กำลังใจ
เนื้อหาของเพลงผู้แต่งมุ่งให้กำลังใจ สำหรับคนที่ประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้า
รวมไปถึงผู้ที่เป็นลูกของพ่อค้าแม่ค้าที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี
เพื่อไม่ให้ย่อท้อต่อความยากลำบาก ไม่ให้น้อยใจและดูถูกอาชีพแม่ค้า
ให้มีความตั้งใจและภูมิใจกับความสำเร็จที่ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงกายของอาชีพแม่ค้าจนๆ
ส่วนตัวดิฉันเองเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบบทเพลงนี้มาก เพราะเป็นคนหนึ่งที่เป็นลูกแม่ค้า
เวลาที่รู้สึกเหนื่อยและท้อกับเรื่องเรียนเรื่องงาน
จะชอบเปิดเพลงนี้ฟังเสมอๆ เวลาได้ฟังเพลงนี้ครั้งใด
จะทำให้รู้สึกว่าตนเองมีกำลังใจมีพลังที่จะสู้กับปัญหาต่างๆได้ทุกครั้งไป
นอกจากเพลงนี้จะเป็นเพลงที่ให้กำลังใจแล้ว
ยังสะท้อนสภาพสังคมและค่านิยมในด้านต่างๆได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาพสะท้อนสังคมด้านการประกอบอาชีพ
ค่านิยมด้านการศึกษา ภาพสะท้อนสังคมด้านเศรษฐกิจ ภาพสะท้อนสังคมด้านครอบครัว เป็นต้น
จากบทเพลงจะเห็นว่ามี ภาพสะท้อนด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งในเพลงนี้ได้กล่าวถึงอาชีพแม่ค้า
แม่ค้า
เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ลำบาก เหนื่อยกายเหนื่อยใจ และจะต้องมีความขยันมีความอดทน
ต้องนอนดึกตื่นเช้า เพราะจะต้องเตรียมข้าวของสินค้าที่จะนำไปขาย
ทั้งต้องบริการเอาใจลูกค้าเพื่อที่จะได้ขายของได้
ทุกๆวันชีวิตจะต้องวนเวียนอยู่แบบนี้ ถึงจะเหนื่อยยากลำบากอย่างไรแม่ค้าก็ต้องทน ดังจะเห็นในเนื้อเพลงท่อนที่ว่า......
“ แม่ยอมลำบาก เพราะอยากให้ลูกสบาย เหนื่อยกายเหนื่อยใจ ไม่ยอมพ่ายต่อโชคชะตา
นอนดึกตื่นเช้า กลางวันเอาใจลูกค้า เรียนน้อยแรงด้อยราคา อาชีพแม่ค้าก็ต้องจำทน ”
ในส่วนของ
ค่านิยมด้านการศึกษา
จะเห็นว่าปัจจุบันการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากสำหรับคนทุกชนชั้น
ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนยากจน ก็ยังมีค่านิยมและให้ความสำคัญด้านการศึกษาเพราะเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยให้มีอนาคตที่ดี
คนจนเองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา
หรือแม่ค้าเองก็ตามยังมีความต้องการอยากให้ลูกของตนได้มีการศึกษาในระดับที่สูง
และอยากเห็นลูกประสบความสำเร็จในการเล่าเรียนอยากเห็นลูกได้รับปริญญา
เพราะสำหรับคนยากจนแล้ว นั่นถือเป็นความสำเร็จอีกอย่างที่จะทำให้ผู้ที่เป็นพ่อแม่ภูมิใจมากที่สุด
ถึงแม้จะต้องยอมลำบาก ทำงานหนัก นอนดึกตื่นเช้า ดังอาชีพแม่ค้า
ก็ต้องยอมทำเพื่อที่จะให้ได้เงินมาใช้เป็นทุนส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือ
ดังเนื้อเพลงท่อนที่ว่า....
“ สู้ไปไม่บ่น อดทนเพื่อลูกเรื่อยมา แม่อยากเห็นใบปริญญา ที่แลกมาจากเหงื่อคนจน
เห็นลูกสู้แท้ ใจแม่ก็สุขเหลือล้น ไม่ยอมให้ลูกอายคน สู้ทนหาเงินส่งเรียน ”
ส่วน ภาพสะท้อนด้านเศรษฐกิจ
จากเนื้อเพลงจะเห็นว่า อาชีพแม่ค้าไม่ได้เป็นอาชีพที่ร่ำรวย
จะเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวนี้ไม่ค่อยจะดีนัก ด้วยอาชีพแม่ค้าเป็นอาชีพที่หาเช้ากินค่ำ
นอกจากที่ต้องใช้เป็นค่าเล่าเรียนของลูก
ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆในครอบครัว
ซึ่งบางเดือนรายได้จากการขายของก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
จนในบางครั้งต้องอาศัยการไปขอกู้ยืมเงินรายวันจากนายทุน แน่นอนค่ะว่า คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายอาจจะทราบและเคยเห็นกันมาบ้างว่า
ทำไมแม่ค้าถึงได้เป็นหนี้รายวันกันเยอะ
คงจะหนีไม่พ้นเหตุผลเดียวกันเหมือนในเนื้อเพลงท่อนที่ว่า....
“ สิ้นเดือนเหมือนดั่งกับแม่สิ้นใจ
บางคราวไม่พอใช้จ่าย ยืมเงินรายวันหมุนเวียน แลกด้วยน้ำตา จึงได้เงินมาเป็นค่าเรียน ”
และด้านสุดท้ายที่พบภาพสะท้อนสังคม
ได้จากบทเพลงนี้คือ ภาพสะท้อนครอบครัว
ครอบครัวที่สมบูรณ์มีส่วนสำคัญในการผลักดันเป็นกำลังใจและสนับสนุนส่งเสียให้ลูกได้ศึกษาในระดับสูง
หากครอบครัวมีปัญหาและขาดความอบอุ่น ก็อาจเป็นอุปสรรคในการเรียนของลูกได้ แต่ถ้าหากเราลองมองอีกมุมหนึ่งสำหรับคนที่มีความตั้งใจจริง
ย่อมจะไม่แคร์อุปสรรคเพียงแค่นี้
หากแต่อุปสรรคความน้อยใจนั้นกับจะกลายเป็นแรงพลักดันให้มีใจฮึดสู้ มีใจมุ่งมั่น
เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ ดังเนื้อเพลงท่อนที่ว่า...
“ แม่คอยสานต่อ นับตั้งแต่พ่อเจ้าจากไป ลูกอย่าน้อยใจ มุ่งมั่นไป อย่าแคร์ปัญหา
อาจมีบางครั้ง เหนื่อยใจกับความเหว่หว้า แม่คอยหอมใบปริญญา ให้ลูกแม่ค้าคนนี้ทำได้ ”
ก้าวไปคว้าเอาใบปริญญามากอดไว้และมอบเป็นของขวัญแด่แม่ด้วยความภาคภูมิใจ
แล้วเรียกปริญญาแห่งความสำเร็จใบนี้ว่า... “ปริญญาลูกแม่ค้า” ดังชื่อบทเพลงได้อย่างเต็มปาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น