วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ตีความเรื่องสั้น

ที่นี่มหาวิทยาลัย

          ที่นี่มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องสั้นในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “ซอยเดียวกัน” รวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์
ปี พ.ศ. 2527 ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ มีจำนวน 232 หน้า และตีพิมพ์ครั้งแรกในผู้หญิง
          ที่นี่มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคนซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่มีความคิดเห็นต่อวงการข้าราชการในระบบมหาวิทยาลัยว่า ที่นี่คือมหาวิทยาลัย เป็นแหล่งวิชาการ เป็นแหล่งผลิตบัณฑิต ปัญญาชนมันสมองของประเทศชาติ แต่เขากับรู้สึกสงสารนักศึกษาทุกคนที่นี่ ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เขาเป็นห่วงนักศึกษาทุกคน เขารู้สึกจะอดทนกับการรับเงินเดือนของรัฐบาลจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้อีกไม่นาน เพราะเขารู้สึกเหนื่อยหน่ายกับสภาพแวดล้อม สภาพความโง่เขลา เห็นแก่ตัว สภาพของความเกียจคร้านสันหลังยาวของคนรอบข้าง ความซื่อเซ่อของผู้บังคับบัญชาสารพัดสารพัน เขาเคยคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องมีคุณธรรมอันสูง เหมือนๆกับที่เขาเคยเชื่อว่าครูนั้นจะต้องมีคุณธรรมในใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วภาพของอาจารย์ที่เขากำลังเลือกตารางสอน ช่างไม่ต่างกับสมัยที่เขาเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถม ในวันเปิดเทอมที่เขาและเพื่อนๆต่างแย่งโต๊ะเก้าอี้กันเป็นที่โกลาหล ทุกคนพยายามเลือกเอาโต๊ะเก้าอี้ตัวที่สะอาดที่สุด พังน้อยที่สุด จนเขาเกือบจะลืม ถ้าไม่บังเอิญเห็นเหตุการณ์อย่างนั้นจะมาเกิดขึ้นต่อหน้าให้เขาเห็นอีก
          จะให้เขาบอกกับใครๆหรือว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งจบปริญญาโท ปริญญาเอก ทำในสิ่งที่เหมือนกับเด็กประถมทำ อาจารย์ทุกคนที่นี่ต้องการพื้นที่ ต้องการห้องส่วนตัว ต้องการสัดส่วนของตัวเอง     บางคนต้องการความโอ่อ่า ต้องการนั่งตรงที่ต้องการจะนั่ง ทุกคนต่างยืดถือความสะดวกสบายและสนองความต้องการเหลวไหลของตัวเอง
          เขาอยากจะออกไปจากมหาวิทยาลัยสถานที่อันโง่งมนี่เสีย เขารู้สึกผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ที่เขารู้สึกว่าเขาตัดสินใจผิดพลาด ที่คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้เข้ามาอยู่ในแวดวงของนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย จะได้ถือโอกาสพัฒนาความคิดตัวเอง เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างที่อยากได้ใคร่รู้แต่ไม่มีโอกาส ใครๆก็อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่จะมีกี่คนที่ต้องการเป็นอาจารย์เพราะต้องการสอนหนังสือ ต้องการให้ความรู้เด็กด้วยความจริงใจ แต่ส่วนส่วนใหญ่แล้วครึ่งหนึ่ง สำหรับคนที่ต้องการเป็นอาจารย์ เพียงเพราะเป็นง่านสบาย โคตรสบายจริงๆ ในขณะที่คนทั่วไปทำงานวันละแปดชั่วโมง และคนอีกหลายล้านคนที่ทำงานวันละมากกว่าสิบชั่วโมง แต่อาจารย์ที่นี่บางคนทำงานเฉลี่ยแค่วันละไม่ถึงชั่วโมงด้วยซ้ำ แค่สอนหนังสือสัปดาห์ละห้าชั่วโมงสิบชั่วโมงยังส่ออาการเบื่อหน่าย ทำหน้าที่ตนเองไม่เต็มที่ เขาไม่เข้าใจว่าจะมาเป็นอาจารย์ให้เปลืองภาษีชาวบ้านทำไม  นี่หรือคือสถานที่ผลิตปัญญาชน เขาไม่เข้าใจ ถ้าจะผลิตบัณฑิตออกมาเพื่อให้เป็นบัณฑิตใบ้ บัณฑิตกุมเป้ากางเกง บัณฑิตไม่มีกระดูกสันหลัง เขาจะเรียกที่นี่ว่ามหาวิทยาลัยอยู่ทำไม
          เขารู้สึกหดหู่ และรับไม่ได้กับระบบและอาจารย์มหาวิทยาลัย ประเทศไม่ได้สอนให้คนคิด มหาวิทยาลัยเป็นที่สอนนักคิด เป็นที่สร้างนักคิด แต่คนที่สร้างนักคิดไม่เคยมีความคิดหรือมีความคิดก็ไม่มีสิทธิ์จะคิด เพราะเพียงแค่คิดคนนั้นก็กลายเป็นแกะดำ เป็นไอ้บ้าอีบอ ที่มีคนพร้อมจะกล่าวประณามให้
          เขาจึงใช้เวลานั่งคิดถึงที่บ้าน ที่ซึ่งเป็นทุ่งนาป่าสะแก ที่น่าจะเป็นที่มีคุณค่าต่อชีวิตมากกว่าการมา หมักหมมอยู่กับคนมีปัญญาแต่ไมมีความคิดเหล่านี้  หรือเขาต้องยอมรับว่า ปัญญานั้นให้กันได้ แต่ความคิดนั้นต้องหาเอาเอง
          เขามองว่าสังคมที่ดีกว่าควรจะเริ่มต้นที่อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ใช่เริ่มที่นักศึกษา ปล่อยให้นักศึกษาต่อสู้กันไปตามบุญตามกรรม โดยที่อาจารย์เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์  เขาไม่เห็นด้วยเลยว่า ที่อย่างนี้จะสร้างความเป็นคนที่เป็นคนให้กับเขาได้ เขาเสียแรงหวังและตั้งใจ สุดท้ายเขาคิดว่าเขาควรกลับไปทำนา ทำไมเขาจะต้องมาทนอึดอัด ทนอับทึบอยู่กับเมืองที่สกปรกและผู้คนโสโครกรอบๆตัวของเขา เขาคิดว่าเขาโชคดีที่ยังมีนาให้กลับไปทำ มีที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์จะหายใจ มีคนพูดภาษาเดียวกับเขารออยู่เหมือนกัน
          จากเรื่องราวทั้งหมดของเรื่องข้างต้น จะเห็นว่าผู้เขียนต้องการแสดงทัศนคติต่อแวดวงระบบอาจารย์ในมหาวิทยาลัย คุณธรรมจริยธรรมของความเป็นครู และที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผู้มีปัญญาชน ผลิตบัณฑิต   ผู้เขียนมีน้ำเสียงตำหนิ  ไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย กับการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่ให้ได้แค่ปัญญา แต่กับสอนให้ให้นักศึกษาคิดไม่ได้ โดยใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย กระชับชัดเจน ใช้คำหนักแน่น แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกและทัศนะของตนเองอย่างชัดเจน
          จากเรื่อง ที่นี่มหาวิทยาลัย ผู้แต่งต้องการเสนอให้เห็นว่า ที่ที่ให้ความรู้ ที่ผลิตบัณฑิต แหล่งวิชาการที่สร้างผู้เป็นปัญญาชน ไม่ใช่แค่ มหาวิทยาลัย ผู้ให้ความรู้ไม่ใช่แค่ผู้เป็นอาจารย์ สังคมที่ดีใช่ได้เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัย แต่ควรเริ่มต้นที่อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีจรรยาบรรณของความเป็นครู สามารถสร้างคนให้เป็นคนได้ ไม่ใช่ให้ได้แค่ปัญญาความรู้ แต่ทำให้นักศึกษาคิดไม่ได้
          จากเรื่องสามารถสรุปตีความได้ว่า มหาวิทยาลัยเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างพื้นฐานความรู้ปัญญา
แต่ทุกคนสามารถสร้างตนเองให้เป็นคนเป็นผู้มีปัญญาเป็นบัณฑิตได้ด้วยการมีคุณธรรมในใจ ทำสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของความเป็นมนุษย์ได้ สร้างสรรค์สังคมที่ดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดที่เพียงเป็นผู้จบจากมหาวิทยาลัยเท่านั้น 


อ้างอิง : วาณิช จรุงกิจอนันต์. ซอยเดียวกัน. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2556. (หน้า 43)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น